Research, Year 2016
โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “ การพัฒนากลไกเชิงสถาบันของประเทศไทยเพื่อรองรับพันธกรณีตามความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ”
รายนามผู้ว่าจ้าง สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่จำกัดเฉพาะการบริหารจัดการภายในของภาครัฐ ยังรวมไปถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (FTAs) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกซึ่งจะต้องมีการปรับกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐให้สอดคล้องกับพันธกรณีดังกล่าว ความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (FTAs) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก การเจรจาความตกลงการค้าเสรี จึงไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะเรื่องการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน แต่ครอบคลุมถึงการจัดการเชิงสถาบัน (Institutional Framework) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงฯ การปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงการค้าเสรีของประเทศไทยมีการทำงานอย่างแยกส่วน ขาดการบูรณาการ ซึ่งบางกรณี ข้อบทของความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (FTAs) มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกัน ดังนั้น การศึกษาโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อรองรับพันธกรณีตามความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นในการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงอื่น เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการเชิงสถาบันในการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกและที่ประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก เพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการบูรณาการวิธีการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในมิติสำคัญ อันเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตลอดจนปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐในการพัฒนากลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับพันธกรณีตามความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
โครงการศึกษากฎหมายเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
A Legal Study to Enhance Cooperation on Goods in Transit between Thailand and Its Neighboring Countries in the face of ASEAN Integration
รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
การวิจัยทำการเก็บข้อมูลที่จุดผ่านแดนที่สำคัญเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาความร่วมมือของอาเซียนทางด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดน ตลอดจนศึกษาแนวความคิด กฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศจีนในเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อความสมบูรณ์โดยศึกษากรอบความตกลงและความร่วมมือทางด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดนของสหภาพยุโรป เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการประสานกฎระเบียบและพิธีศุลกากรของประเทศสมาชิกรวมถึงแนวทางในการดำเนินงานของ United Nations Economic Commission for Europe (UNECE) ภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนและพิธีการด้านศุลกากรของ World Customs Organization เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT) เป็นความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีระบบการขนส่งผ่านแดนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน และมีสาระสำคัญเพื่อประสานกฎระเบียบในการขนส่งผ่านแดนให้เป็นรูปแบบเดียวกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดน อาทิเช่น มาตรฐานสินค้า การตรวจสอบทางเทคนิค พิธีการทางศุลกากร และข้อกำหนดเรื่องหลักประกันในรูปแบบเดียวกัน
โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้วยประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสภาพปัญหาอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายธุรกรรมกอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายการทำให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายความมั่นคงปลิดภัยไซเบอร์ เป็นต้น ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์ร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรต่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยพร้อมทั้งเสนอร่างกฎหมาย
โครงการศึกษารูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบการกำกับดูแลการแข่งขันในยุคดิจิตอล
รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
การวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการปรับตัว รูปแบบ และแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แนวโน้มของอุตสาหกรรม โครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างองค์กรของกลุ่มบริษัทในเครือของผู้รับใบอนุญาต การแข่งขัน รูปแบบความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ รูปแบบของสินค้าบริการ รายการส่งเสริมการขาย การซื้อขายและเปลี่ยนเนื้อหารายการ การผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในเนื้อหารายการที่ได้รับความสนใจ (Premium Content) ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการประกอบกิจการอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าสู่โทรทัศน์ในยุคดิจิตอล เพื่อให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมและเป็นข้อมูลประกอบการกำกับดุแลการแข่งขัน ตลอดจนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์