Research, Year 2015

Research, Year 2015

โครงการประเมินสภาพการแข่งขันเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในยุคดิจิตอล

รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

การศึกษาเปรียบเทียบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในต่างประเทศตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลจนกระทั่งปิดระบบอนาล็อก (Analog switch off) โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบต่อการแข่งขันทั้งในด้านการให้บริการ โครงสร้างตลาด พฤติกรรมอันอาจนำไปสู่การผูกขาดรายการบางประเภท การซื้อขายแลกเปลี่ยนรายการ (Content) ระหว่างผู้ให้บริการ การบริหารจัดการกล่องรับสัญญาณ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านราคาและอัตราค่าบริการที่อาจส่งผลต่อผู้บริโภค และศึกษากฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ ปัญหาและอุปสรรคในเชิงการแข่งขัน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ขอรับใบอนุญาตเมื่อเข้าสู่ระบบโทรทัศน์ในยุคดิจิตอล เพื่อประเมินสภาพการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ภายหลังให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์แนวทางกำกับดูแล ปัญหาอุปสรรค และนำเสนอแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม

 


 

การพัฒนากฎหมายสาขาธุรกิจการศึกษาไทยเพื่อรองรับการเปิดตลาดการค้าบริการอาเซียนภายใต้กรอบความตกลงใหม่หลังปี พ.ศ. 2558

รายนามผู้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โครงการนี้ดำเนินการศึกษาการเปิดตลาดบริการด้านการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อนโยบายด้านสังคมของประเทศเนื่องจากการเปิดตลาดจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ ทักษะ และวัฒนธรรม ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน (AFAS) การเปิดตลาดบริการด้านการศึกษาสะท้อนหลักของการเปิดตลาดบริการภายใต้ความตกลง GATS โดยมุ่งเน้นให้ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด และข้อจำกัดในการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ อันอาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุดมศึกษาที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเปิดตลาดบริการ นอกจากนี้ การศึกษาการเปิดตลาดบริการด้านการศึกษาของยุโรปสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปิดตลาดบริการที่มีความลึกซึ้งและเสรีมากขึ้นในอนาคต

 


 

โครงการศึกษาประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

รายนามผู้ว่าจ้าง สมาคมการค้ายาสูบไทย

ประเทศไทยได้เข้าร่วมตกลงในกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC WHO : Framework Convention on Tobacco Control  ได้นำหลักการหลายประการมาเป็นแนวทางในการบัญญัติบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันเยาวชนให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ยากยิ่งขึ้นและต้องการลดจำนวนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบให้น้อยลง การบัญญัติกฎหมายดังกล่าวกลับมีผลกระทบสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่คุ้มครองเอกชนในการประกอบกิจการ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ประเด็นปัญหากฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ วิเคราะห์ประเด็นกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายมหาชน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หลักธรรมาภิบาลรวมทั้งผลกระทบในเชิงพาณิชย์ นำเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการแก้ไขปัญหากฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและประเด็นกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบตามกรอบของ FCTC จะมีประเด็นสำคัญ คือ การห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ กำหนดลักษณะของจุดขายปลีกยาสูบ กำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมยาสูบ กำหนดแนวทางการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่ กำหนดและเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายส่วนอื่นๆ เช่น ห้ามการโฆษณาทางอ้อม มาตรการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมยาสูบในทุกระดับ

 


 

โครงการศึกษากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อประเทศไทย

รายนามผู้ว่าจ้าง บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด

เพื่อศึกษาหลักการสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลสากล และในกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลก ได้แก่ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา โดยพิจารณาหลักกฎหมาย (Legal Doctrine) ความเห็น คำอธิบาย การศึกษาวิจัย และรายงานที่เป็นการแปลความ การปรับใช้กฎหมายและหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนกรณีศึกษาจากคดี (Case Study) และแนวทางคำวินิจฉัยของศาล บทบัญญัติกฎหมาย เอกสารเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรป และของสหรัฐอเมริกา และทำการวิเคราะห์กฎหมายลำดับรอง และกฎระเบียบ ซึ่งเป็นการสร้างแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองข้อมูล ทั้งยังทำการศึกษาแนวปฏิบัติ คำแนะนำ และอนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลเพื่อกำหนดเป็นหลักการในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อให้ทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยในมุมมองทางด้านนิติศาสตร์และทางด้านเศรษฐศาสตร์

 


 

โครงการการยอมรับและการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน

รายนามผู้ว่าจ้าง กรมบังคับคดี

เนื่องจากประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้าร่วมกันวางเป้าหมายในการเป็นประชาคมอาเซียน ย่อมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินและแรงงานอย่างเสรีภายในภูมิภาค การติดต่อประกอบธุรกิจอาจเกิดกรณีพิพาทอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาเซียนมีความจำเป็นต้องมีกลไกในการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพและมีสเถียรภาพเพียงพอ มีผลบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมต่อคู่ความทุกฝ่าย เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและพาณิชย์ จึงวิเคราะห์ปัญหา เปรียบเทียบกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ รวมไปถึงวิวัฒนาการความร่วมมือทางกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน วิธีการในการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการศึกษาและเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ วิธีการในการรับรองและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศของกลุ่มประเทศที่มีการรวมตัวกันในลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก และนำเสนอแนวทางในการรับรองและการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนตลอดจนข้อยกเว้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 


 

โครงการข้อมูลกฎหมายเรื่อง กฎหมายของประเทศบรูไนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคงของประเทศบรูไน

รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

การรวบรวมและพัฒนากฎหมายของประเทศสมาชิก ASEAN เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยและนักธุรกิจไทยในการทำการค้าขายและการขยายการลงทุนไปยังประเทศสมาชิก เพื่อจัดทำข้อมูลกฎหมายการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อให้การจัดทำฐานข้อมูลกฎหมายอาเซียนมีความสมบูรณ์ครบถ้วนครอบคลุมทั้งสามประชาคมภายใต้ประชาคมอาเซียน เพื่อจัดทำข้อสรุปและรวบรวมข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมการเมืองและความมั่นคงของประเทศอาเซียน เพื่อรับทราบภาพรวมด้านนโยบายและพันธกรณีเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคงของประเทศบรูไน โดยจัดทำเป็นบทสรุปในลักษณะภาพรวมที่อ่านเข้าใจได้โดยง่ายเพื่อเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป ประกอบด้วยการอ้างอิงที่มาของข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น กฎหมายและคำพิพากษา (Primary Sources) รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลของทางราชการ (Secondary Sources) เพื่อรับทราบข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง ของประเทศบรูไน

 


 

โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องของประเทศไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

รายนามผู้ว่าจ้าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีย่อมผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบของอาเซียนและกรอบความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับกรอบปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ จะช่วยให้การพัฒนากฎหมายในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ทราบถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยผูกพันภายใต้กรอบความตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและกรอบความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กฎหมายของต่างประเทศที่มีระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องที่มีประสิทธิภาพ และเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการแข่งขันทางการค้าจากระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศไทย และเพื่อเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ความสอดคล้องกับพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบความตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและกรอบความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องแบบครบวงจร อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระดับระหว่างประเทศของประเทศไทย

 


Research, Year 2016   l  Research, Year 2014